Curve of Change episode 2



งานเขียนนี้แปล และ edit จากต้นฉบับของ Prof. Erin Malone, University of Minnesota


Curve of Change episode 2


ในบทความที่แล้วกล่าวถึงความยากลำบากของผู้เรียนในการเผชิญและก้าวข้ามผ่านอุปสรรคก่อนการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่สิ่งที่ยากไปกว่าที่กล่าวมาทั้งหมดก็คือ ไม่ใช่เพียงผู้เรียนที่จะต้องเผชิญทุกขั้นตอนนี้ ตัวผู้สอนเองก็ต้องเผชิญด้วยเช่นกัน และอาจจะยากกว่าผู้เรียนด้วยซ้ำ เนื่องจากผู้สอนมักมีความคาดหวังต่อการสอนของตนเองสูงมาก เราต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างใช้เวลา จากประสบการณ์แล้ว สำหรับ flipped classroom ผู้สอนจะใช้เวลาปรับตัวให้เข้าที่อย่างน้อย 2-3 ปี 

ช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงจะยากและซับซ้อนมากกว่าที่ผู้สอนคิด ดังนั้น การใช้เทคนิคการสอน flipped classroom ที่มีโครงสร้างรูปแบบชัดเจนแล้ว มีการพิสูจน์ความสำเร็จให้เห็นแล้ว (เช่น Team-based Learning: TBL) จะช่วยผู้สอนให้เปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้นและดีกว่าการลองผิดลองถูกเอง

รูปแบบการเรียนที่สม่ำเสมอมีความสำคัญต่อผู้เรียนที่ถูกสอนผ่านวิธีนี้เพราะช่วยลดภาระของสมองในการปรับตัวจดจำกระบวนการที่หลากหลายเกินความจำเป็น ดังนั้นหากจำเป็นต้องมีผู้สอนร่วมกันหลายๆคน จะต้องมีการพูดคุยตกลงถึงรูปแบบการเรียนการสอนให้ชัดเจนและตรงกัน ผู้ประสานงานกระบวนวิชาควรเป็นผู้ออกแบบรูปแบบการสอน และให้ผู้ร่วมสอนมีส่วนร่วมในรายละเอียด เช่น การออกข้อคำถาม การสร้างแบบฝึกหัด หรือจัดหาทรัพยากรการเรียนรู้ที่สำคัญ เป็นต้น

ผู้สอนต้องเตรียมตัวรับต่อสถานการณ์ที่คะแนนประเมินผู้สอน และคะแนนประเมินกระบวนวิชาที่จะต่ำลง ต้องเข้าใจว่าผู้เรียนไม่ได้จะเปลี่ยนทัศนคติได้ง่าย ควรจะต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หัวหน้าภาค หรือคณะกรรมการวิชาการได้ทราบถึงสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสนับสนุน การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ feedback กลับมาเป็นระยะๆ จะช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกดีขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงวิธีการในระหว่างนั้น 

ผู้สอนเองก็จะมีช่วงที่รู้สึกเหมือนตกอยู่ในหลุมดำของความท้อแท้ โปรดจำไว้ว่ามันจะดีขึ้นเสมอ แต่หากรู้สึกแย่มากๆ ก็หาเพื่อนพูดคุย และนึกถึงเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องเปลี่ยนวิธีการสอน ..และช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่ดีที่สุดที่จะทบทวนสิ่งต่างๆ รวมถึงค้นคว้าหาคำตอบจาก literature review
เมื่อผู้สอนกำลังเคลื่อนตัวออกจากหลุมดำนั้น ให้บันทึกไว้ว่ามีสิ่งใดที่อยากจะปรับปรุงต่อ แนะนำให้เลือกทำในสิ่งที่เล็กๆ ง่ายๆ ก่อน แต่ให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ อย่าลืมว่ากระบวนการสอนแบบนี้มีความยากและซับซ้อนอยู่แล้วแม้เราจะไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ดังนั้น ...keep it small and doable..!!

เมื่อสิ้นสุดกระบวนวิชา..ฉลองเลยค่ะ ..เพราะเราได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อการเรียนรู้ และการคงอยู่ของความรู้ที่ดีขึ้นต่อผู้เรียน แม้จะผ่านความเจ็บปวดบ้าง แต่ผลที่ได้รับนั้นคุ้มค่า ..ปีหน้าก็ทำต่อ

ข้อคิดสุดท้าย

ออกแบบเนื้อหากระบวนวิชาด้วยวิธีย้อนกลับ (backward design) ยกเลิกการถล่มเนื้อหาทุกสิ่งอย่างให้กับผู้เรียน เอาแค่เนื้อหาพื้นฐานที่จำเป็นเท่านั้นพอ

สร้างผู้เรียนให้เป็นผู้ที่มีความเชื่อถือได้ (accountable) เลือกวิธีที่ทำให้แน่ใจว่าผู้เรียนเตรียมตัวเองมาก่อนเรียน เช่น การทดสอบก่อนเรียนรายบุคคล

แม้จะกล่าวว่า flipped classroom เช่น TBL ต้องใช้เวลาในการปรับตัวถึง 2-3 ปี แต่หากศึกษาทฤษฎี Kubler-Ross change ให้ดี และเอาใจใส่ต่อการเร่งรัดขั้นตอนต่างๆ เราน่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่านั้น และเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนได้เร็วขึ้น

เป็นกำลังใจให้กับผู้สอนที่ตั้งใจจะทำ flipped classroom ทุกคนนะคะ...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

TBL Memo: First session

Curve of Change episode 1

ความท้าทายของผู้สอน: การบรรยายในคลาสบ่าย!!