Curve of Change episode 1

งานเขียนนี้แปล และ edit จากต้นฉบับของ Prof. Erin Malone, University of Minnesota

Curve of Change episode I

มีหลายงานวิจัยในชั้นเรียนที่พิสูจน์ว่า Active learning ให้ผลดีในการปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ และการคงอยู่ของความรู้ต่อผู้เรียน โดยเฉพาะในสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมถึงสาขาสัตวแพทยศาสตร์ด้วย แต่เป็นเรื่องยากจริงๆ ที่จะนำเอา Active learning บรรจุเข้าไปในหลักสูตรโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนนี้เลย

Active learning เช่น การสอนแบบห้องเรียนกลับทาง (flipped classroom) อาศัยการศึกษาความรู้พื้นฐานด้วยตนเองของผู้เรียนก่อนที่จะเข้าสู่ห้องเรียน ย่อมนำมาซึ่งความเครียด และความต่อต้าน ผู้ที่จะนำเทคนิคนี้มาใช้ จำเป็นต้องเข้าใจระยะต่างๆ ของการเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะเกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น

Kubler-Ross change curve มักถูกนำมาใช้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงหรือการสูญเสีย ทั้งในแวดวงธุรกิจ และการบริหารองค์กร จึงเริ่มมีการนำมาใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงในด้านการเรียนรู้

Flipped classroom คือการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับนักศึกษาโดยเฉพาะในกลุ่มวิชาชีพทางการแพทย์ นักเรียนจำนวนหนึ่งที่เรียนได้คะแนนดีในชั้นเรียนแบบเดิมๆ สิ่งแวดล้อมเดิมๆ นักเรียนกลุ่มนี้ย่อมจะคุ้นเคยและรู้สึกปลอดภัยในห้องเรียนแบบเดิมๆ แต่คลื่นสมองของนักเรียนกลุ่มนี้จะแอคทีฟในขณะที่หลับมากกว่าขณะที่ฟังบรรยาย

แต่ไหนแต่ไร มนุษย์จะตื่นตัว ตื่นเต้น หรือแม้แต่ตื่นกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบตัว การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนก็ย่อมส่งผลต่อการตอบสนองแบบนี้เช่นกัน สมองของผู้เรียนจะถูกระตุ้นอย่างรุนแรงและก่อให้เกิดพฤติกรรม flight or fight response หลังจากนั้นสมองจะเริ่มสั่งการเพื่อจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น ระยะนี้นี่เองที่ curve ของการเปลี่ยนแปลงจะเริ่มแสดงให้เห็น

Kubler-Ross change curve ได้อธิบายขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงอยู่ 7 ขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นช็อค (Shock) จนถึงขั้นบูรณาการ (Integration) สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงแต่ละอย่างอาจต้องการระยะเวลาของแต่ละขั้นตอนแตกต่างกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงจากการสูญเสีย อาจะไม่ต้องการการเร่งรัดเวลาในแต่ละขั้นตอน แต่ในการเรียนการสอนยิ่งสามารถลดระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนได้มากเท่าไรยิ่งดี เพื่อให้ผู้เรียนไปถึงขั้นบูรณาการได้เร็วที่สุด


1.       ขั้นช็อค (Shock) ขั้นตอนนี้จะข้ามผ่านได้อย่างรวดเร็ว หากผู้เรียนได้รับข้อมูลรวมถึงเหตุผลที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดก่อน
2.       ขั้นหวาดกลัวและปฏิเสธ (Denial หรืPanic) ขั้นตอนนี้ผู้เรียนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และจะส่งผลต่อประสิทธิผลในการทำงานหรือการเรียนอย่างแน่นอน ยิ่งการตื่นกลัวสูงมาก จะทำให้ความเครียดสูงมากจนเกินกว่าที่เรียนรู้สิ่งใดๆได้ การลดผลกระทบของขั้นตอนนี้อาจทำได้โดยการเริ่มจากสิ่งง่ายๆ ก่อน เพื่อฝึกให้เกิดความคุ้นเคยมากขึ้นเรื่อยๆ
3.       ขั้นหวาดหวั่น (Frustration) ขั้นตอนนี้สมองยังอยู่ระหว่างความพยายามในการปรับเข้าสู่มาตรฐานใหม่ แต่ยังไม่ยอมรับทั้งหมด แต่ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญต่อการเรียนรู้ และการคงอยู่ของความรู้ เพียงแต่ผู้เรียนจะไม่เห็นประโยชน์ดังกล่าว และหากมีการสำรวจความเห็นผู้เรียนในระยะนี้ อาจได้รับ feedback ว่า วิชานี้ยาก, ผมไม่สามารถเรียนแบบนี้ได้, หรือ หนูไม่ได้จ่ายเงินมาเพื่อมาเรียนเองแบบนี้... หากบางคนไม่สามารถข้ามผ่านขั้นตอนนี้ได้ ผู้สอนก็จะได้รับ feedback แบบเดียวกันนี้เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอน การลดปัญหาในขั้นตอนนี้ต้องอาศัยการอธิบายซ้ำๆ ว่าเหตุใดผู้สอนถึงต้องพาผู้เรียนมาทุกข์ทรมาณแบบนี้ ข้อมูลจากงานวิจัยหรือแหล่งต่างๆ จะช่วยได้มากโดยเฉพาะนักเรียนในกลุ่มวิชาชีพจะยอมรับได้ง่ายขึ้น
4.       ขั้นซึมเศร้า (Depression) ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนปกติที่ต่อมาจากขั้นหวาดหวั่น ผู้เรียนยังคงรู้สึกยาก ไม่เห็นความหวังใดๆ  และไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม สมองลดการหลั่งอะดรีนาลิน ในช่วงนี้ไม่ควรปล่อยให้ผู้เรียนจมอยู่กับท้อแท้ ผู้สอนสามารถช่วยเหลือผู้เรียนในขั้นตอนนี้ด้วยการสร้างกำลังใจ เช่น ชมเชยในสิ่งที่ผู้เรียนทำได้ดี หรือชมเชยผู้เรียนที่สามารถก้าวข้ามผ่านความรู้สึกในสามขั้นตอนแรกมาได้ หากสามารถดึงจุดที่ผู้เรียนทำได้สำเร็จมาให้เห็น ผู้เรียนจะยิ่งมีกำลังใจสูงขึ้น และหากผู้เรียนขอพบปะพูดคุยควรจัดเวลาให้พบโดยเร็วที่สุด
5.       ขั้นทดลอง (Experiment) ในขั้นตอนนี้ผู้เรียนจะสามารถทำกิจกรรมได้ดีขึ้น และเริ่มเข้าใจว่าความผิดพลาด ความรู้สึกแย่ๆที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้ใครถึงตาย บางคนอาจตระหนักได้ว่าได้เรียนรู้สิ่งใหม่เพิ่มขึ้น ผู้เรียนจะเริ่มอยากรู้อยากลองและผลักดันตัวเองออกนอก comfort zone มากขึ้น ผู้สอนควรสังเกตพฤติกรรมนี้และให้รางวัลหรือชมเชย ไม่จำเป็นต้องเป็นรางวัลที่มีมูลค่าเงินสูง แต่มีค่าทางใจ เช่น ให้ดาวติดสมุด ลูกอม เป็นต้น กลุ่มไหนได้รางวัลเหล่านี้มากที่สุดอาจได้รางวัลใหญ่ เช่น คุกกี้ ตอนจบคลาส
6.       ขั้นตัดสินใจ (Decision) หากขั้นตอนทดลองผ่านไปได้ด้วยดี ผู้เรียนจะตัดสินใจยอมรับ หยุดต่อต้าน และลงมือตั้งใจทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม ในขั้นนี้ยังเร็วไปที่จะบอกว่าผู้เรียนได้เปลี่ยนทัศนคติแล้ว
7.       ขั้นบูรณาการ (integration) ในขั้นตอนนี้ผู้เรียนจะสามารถรวบรวมสิ่งที่เรียนรู้มาประกอบร่าง และจดจำบันทึกลงในสมอง ผู้เรียนจะสามารถต่อยอดนำเอาความรู้ดังกล่าวมาพัฒนาทักษะใหม่ๆ แต่ผู้เรียนจะไม่รู้ตนเอง ผู้สอนจะต้องชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการเหล่านั้น 

จจะเห็นว่าผู้สอนมีความสำคัญในการก้าวผ่านทุกขั้นตอนของผู้เรียนในรูปแบบ active learning การจัดการทุกขั้นตอนต้องอาศัยความใส่ใจ เรียนรู้พฤติกรรมผู้เรียน การวางแผนรับมือ และเลือกวิธีและเวลาตอบสนองที่ถูกต้อง

แต่ผลที่ได้ จะทำให้ผู้สอนอิ่มใจเสมอ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

TBL Memo: First session

ความท้าทายของผู้สอน: การบรรยายในคลาสบ่าย!!