TBL Memo: First session


บันทึก TBL
วันที่ 14 มกราคม 2562
เป็นการเริ่มเรียนแบบ TBL ครั้งแรก แต่เราขอใช้ session ในวันนี้เป็น session ทดลองเพื่อให้นักศึกษามีการปรับตัวและถือว่าเป็นการทดลองระบบไปในตัวด้วย ตามที่วางแผนไว้ ในทุก ๆ session จะมีคะแนนเก็บจากการทำ quiz แต่ของสัปดาห์นี้ยังยกเว้นให้ค่ะ เพื่อให้นักเรียนไม่กังวลกับกระบวนการที่จะเกิดขึ้น
อุปกรณ์ที่เราเตรียมให้สำหรับ TBL แต่ละกลุ่ม
เราตั้งใจไว้แต่แรกว่าวิชานี้เราจะไม่เก็บคะแนนจากการเช็คชื่อ เพราะอยากเห็นผลของการเรียนแบบ TBL ว่าจะสามารถดึงดูดให้นักศึกษาเข้าห้องเรียนด้วยตัวเองหรือไม่ แต่เราก็แอบให้ positive reinforcement ของการมาเข้าเรียนตรงเวลาด้วยการมอบสติกเกอร์ให้กับกลุ่มที่มาครบก่อนเวลาเรียน (เราจัดกลุ่มให้เด็กนะคะ การกระจายความแตกต่างของผู้เรียนสำคัญมากสำหรับการสอนแบบนี้)

ขั้นตอนแรกของวันนี้ เราสมมติเหตุการณ์ ให้นักศึกษาได้ศึกษา material ที่เตรียมไว้ให้บนระบบ moodle ประหนึ่งเหมือนอยู่ที่บ้าน โดยต่างคนต่างทำการศึกษาด้วยตัวเอง (ในส่วนนี้พบปัญหาคลิปวิดิโอจาก youtube บางอันไม่สามารถเชื่อมลิงค์ไปได้ ต้องแก้ปัญหาด้วยการเปิดให้ดูพร้อมกันบน screen ในห้อง) ขั้นตอนนี้ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที
นักเรียนตั้งอกตั้งใจศึกษา pre-class material ขั้นตอนนี้ปกติให้นักเรียนเตรียมตัวที่บ้านเองนะคะ

ขอขยายความเรื่อง material ที่จะเตรียมให้นักศึกษาไว้ตรงนี้อีกนิดค่ะ ควรจะเป็นเนื้อหาที่นักศึกษาจำเป็นต้องรู้จริง ๆ สำหรับการทำ application exercise ในขั้นตอนถัด ๆ ไป และเป็นองค์ความรู้ที่ผ่านการ edit มาแล้วไม่เยิ่นเย้อ อาจเป็นสื่อในลักษณะ fact sheet หรือ VDO clip ที่จะช่วยให้นักศึกษาทำความเข้าใจได้ง่าย บางกรณีหาก material มีปริมาณมากและซับซ้อน อาจออกแบบใบงานเป็นตารางเพื่อให้นักศึกษาสามารถทำสรุปใจความสำคัญด้วยตนเองได้

หลังจากศึกษา material ต่าง ๆ แล้ว นักศึกษาจะได้รับอนุญาตให้ทำ quiz ซึ่งเป็น MCQ บน platform ของ moodle (ที่เราเลือกใช้ platform นี้ เพราะมหาวิทยาลัย provide ให้ และสามารถ record คะแนนเก็บไว้ได้) การ set ข้อสอบ quiz ในขั้นตอนนี้ขอให้ระมัดระวังเรื่องการเฉลยข้อสอบและการบอกคะแนนหลังการ submit เพราะเรายังต้องใช้คำถามเดียวกันในขั้นตอนต่อไปคือ group quiz เราลืมบอกไปว่า quiz ใน moodle นี้ ให้ทำเป็นรายบุคคล วัตถุประสงค์ของ quiz นี้มีไว้เพื่อให้แน่ใจว่านักศึกษามีความพร้อมก่อนเข้าทำกิจกรรม ไม่เป็นภาระให้กับทีมของตนเอง เรากำหนดให้ทำ quiz ได้ไม่เกิน 10 นาที และกำหนดเวลาให้ quiz active ช่วงสั้น ๆ เพื่อไม่ให้ใครเข้าไปเปลี่ยนคำตอบ quiz ตัวเองได้หลังเลิกเรียน

ส่วนของ group quiz ที่เป็นขั้นตอนต่อจาก individual quiz จะใช้คำถามเดียวกัน  (ในตอนนี้นักศึกษาจะไม่รู้ว่าตัวเองตอบผิดหรือถูกเพราะ quiz จะไม่เฉลย) การนำเสนอคำถามจะไปทีละคำถาม แต่ละกลุ่มจะมีเวลาคิด ถกเถียงเพื่อสรุปคำตอบให้เป็นคำตอบของกลุ่ม ก่อนที่จะตัดสินใจตอบ วิธีการตอบคำถาม เราแนะนำให้ใช้ IF-AT card ซึ่งเป็นกระดาษคำตอบ MCQ แบบขูดหาคำตอบ (ดังนั้นตอนสร้างคำถามต้องให้แน่ใจว่าคำตอบตรงกับ key ที่ระบุไว้ล่วงหน้าของ IF-AT card นะคะ) การใช้กระดาษคำตอบแบบนี้จะทำให้นักศึกษาตั้งใจหาคำตอบจริง ๆด้วยกันก่อน เพราะการขูดคำตอบที่ไม่ปรากฏสัญลักษณ์ว่าตอบถูกจะทำให้คะแนนของข้อนั้นลดลง  ยิ่งขูดหลายครั้งคะแนนยิ่งลดลงไปตามสัดส่วน จากที่ทำวันนี้พบว่า group quiz จะใช้เวลาประมาณข้อละ 2 นาทีโดยประมาณ มีนักศึกษาบางกลุ่มที่ไม่รู้ว่าการใช้ IF-AT card ต้องขูดจนกว่าจะเจอคำตอบ แต่หลังจากวันนี้ไปทุกคนน่าจะรู้ละล่ะ (สังเกตว่าข้อหลัง ๆ เริ่มมีเสียงเฮจากกลุ่มที่ขูดแล้วเจอคำตอบถูกต้องในครั้งแรก)
ตัวอย่าง IF-AT card อันนี้ได้มาจาก UMN แต่ที่เมืองไทยได้รับความช่วยเหลือจาก อ.ปริวรรษ คณะสัตวแพทยศาสตร์ KU ในการช่วยจัดหาและจัดส่งการ์ดนี้ในเวอร์ชั่นภาษาไทยให้ค่ะ 

ถึงจุดนี้ นักเรียนบางรายอาจมีข้อสงสัยในคำตอบที่เฉลย โดยเฉพาะเมื่อคำตอบไม่ตรงกับที่ตนเองเข้าใจจากการศึกษาด้วยตนเอง จะเป็นเวลาที่ดีสำหรับการทำ burning question (อาจให้รางวัลนักศึกษาที่เสนอคำถาม เช่น ให้สติกเกอร์กับกลุ่มของนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษามีความกล้าที่จะถามมากขึ้น) และสนับสนุนให้นักศึกษาคนอื่น ทั้งจากในกลุ่มเดียวกันหรือต่างกลุ่มได้ลองร่วมกันตอบคำถามของเพื่อน (นักศึกษาที่ช่วยตอบก็ได้รางวัลเช่นกัน) วัตถุประสงค์ของขั้นตอนนี้เพื่อให้ทุกคนได้มีพื้นฐานความรู้ที่ถูกต้องไปพร้อม ๆ กัน และฝึกการสร้างคำถาม และความกล้าในการถามอย่างสร้างสรรค์ อาจารย์เองก็สามารถมี mini lecture ให้กับนักศึกษาอีกครั้งได้ เพื่อช่วยกรอบและลำดับความคิดให้กับผู้เรียน สำหรับ mini lecture เราแนะนำว่าไม่ควรเกิน 10 นาที (อย่าลืมว่าการฟัง lecture ให้ได้ใจความจะมีประสิทธิภาพสูงสุดแค่ 15 นาทีแรกเท่านั้นนะคะ)

มาถึงจุดสำคัญของ TBL คือการทำ application exercise เพราะเสน่ห์ของ TBL คือการได้ระดมสมองกับเพื่อนในกลุ่มเพื่อแก้ปัญหา ฝึกการให้เหตุผล การลำดับความสำคัญ การเลือกข้อมูลที่เชื่อถือได้ คำถามสำหรับงานทางสัตวแพทย์หลายประเด็นสามารถกระตุ้นให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ เช่น การวางแผนการวินิจฉัยโรคในสัตว์ที่สถานการณ์มีข้อจำกัด หรือค้นหาแนวทางการรักษาที่ดีที่สุด หรือแม้แต่เรื่องการสื่อสารพูดคุยกับเจ้าของสัตว์ที่มีบุคลิกภาพแตกต่างหลากหลาย คำถามที่ดีสำหรับส่วนนี้ควรเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัวเพื่อให้ผู้เรียนมีอิสระในการคิดหาเหตุผล และเปิดประเด็นวิเคราะห์วิจารณ์ได้อย่างสนุกสนาน หน้าที่ของอาจารย์ในขั้นตอนนี้จะเป็นเหมือน facilitator ที่คอยกระตุ้นให้เกิดการวิเคราะห์วิจารณ์แบบเปิดกว้าง สำหรับในครั้งนี้ เราใช้เทคนิคอยู่ 3 อย่าง คือ 1. การให้ยกแผ่นกระดาษสีคำตอบ 2. การให้เขียน chart สรุปคำตอบที่กลุ่มค้นคว้ามาได้ และ 3. การให้เพื่อนต่างกลุ่มช่วยเติมเต็ม chart ของแต่ละกลุ่ม (เราจับคู่กลุ่มให้ แล้วสลับกันศึกษา chart ของเพื่อนและเขียนแนะนำเพิ่มเติมตามความเห็นตนเอง)
เมื่อรับโจทย์คำถาม ก็ถึงเวลาค้นคว้าเพื่อสรุปลง chart ของตัวเอง
ผลงานของพวกหนูกำลังเป็นรูปร่างค่ะ

เราพบว่าแม้ว่านักศึกษาจะเริ่มต้นการสืบค้นด้วย google เป็นส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายก็สามารถเลือกชิ้นข้อมูลอ้างอิงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ นอกจากนี้คำถามที่ผุดขึ้นจากผู้เรียนก็แตกต่างจากคำถามของกลุ่มผู้เรียนแบบ lecture based ที่เคยสอนมา โดยจะเป็นคำถามที่ผ่านกระบวนการคิดกลั่นกรองและซับซ้อนขึ้น ที่น่าสนใจคือผู้ที่ให้คำตอบไม่ใช่อาจารย์ที่อยู่ในห้องแต่เป็นนักศึกษาด้วยกันเอง และสุดท้ายเราพบว่านักศึกษาเห็นว่าการที่มีเพื่อนกลุ่มอื่นมาช่วยเติมเต็ม chart ของตัวเองนั้น ทำให้ chart ของตัวเองสมบูรณ์ขึ้น และเข้าใจการทำงานแบบเปิดใจรับฟังผู้อื่นมากขึ้นด้วย เสียดายแค่ว่า session ของวันนี้มีข้อจำกัดเรื่องเวลา นักศึกษาเพิ่งเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้เป็นครั้งแรก จะใช้เวลานานมากกว่าที่วางแผนไว้ (ขนาดเผื่อแล้วก็เถอะนะ) ทำให้มีบางคำถามต้องข้ามไปเนื่องจากเวลาไม่พอ

ในตอนท้ายคาบ เมื่อเราเห็นว่านักศึกษาเริ่มเห็นแนวทางการเรียนกระบวนวิชานี้แล้ว เราก็ให้เขียนเป้าหมายของการเรียนวิชานี้ในกระดาษ post-it น้อย ๆ (เน้นว่าขอให้เป็นเป้าหมายแบบที่ไม่ใช่เรื่องเกรดนะ 5555) เราคิดว่าสิ่งที่จะได้จากส่วนนี้คือ 1. นักศึกษาได้เริ่มคิดว่าตัวเองมาเรียนวิชานี้เพื่ออะไร และ 2. เราจะมีข้อมูลไว้ปรับกระบวนการสอนของเราให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่นักเรียนคาดหวังได้มากขึ้น (ก็ student-center งัย จะอะไรล่ะ ^^)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Curve of Change episode 1

ความท้าทายของผู้สอน: การบรรยายในคลาสบ่าย!!